ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล
โครงสร้างเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเรียนรู้ภาษาหรือการใช้ภาษา
เราพูดเป็นประโยคที่มีใจความสมบูรณ์และสื่อสารกันรู้เรื่องเพราะเรารู้หรือเข้าใจโครงสร้างภาษา
ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่มักก่อให้เกิดปัญหาแก่นักแปล
1.ชนิดของคำและประเภททางไวยากรณ์ที่สำคัญ
ชนิดของคำ
(pasts of speech) เป็นสิ่งสำคัญในโครงสร้าง
เพราะเมื่อเราสร้างประโยคเราต้องนำคำมาร้อยเรียงกันให้เกิดความหมายที่ต้องการสื่อสาร
ประโยคจะถูกไวยากรณ์เมื่อเราใช้ชนิดของคำตรงกับหน้าที่ของไวยากรณ์
ประเภททางไวยากรณ์ (grammatical category) หมายถึงลักษณะสำคัญในไวยากรณ์ของภาษาใดภาษาหนึ่ง
ซึ่งมักสัมพันธ์กับชนิดของคำ ในภาษาอังกฤษจะบังคับให้ผู้พูดระบุเวลาของเหตุการณ์ชัดเจนแต่ในภาษาไทยไม่มีการบังคับให้บ่งชี้
1.1 คำนาม
เมื่อเปรียบเทียบคำนามในภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ
พบว่าประเภททางไวยากรณ์ที่เป็นลักษณะสำคัญหรือลักษณะที่มีตัวบ่งชี้ในภาษาอังกฤษ
แต่เป็นลักษณะที่ไม่สำคัญหรือลักษณะที่ไม่มีตัวบ่งชี้ในภาษาไทย
1.1.1 บุรุษ (person) เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่บ่งบอกว่าคำนามหรือสรรพนามทนำมาใช้ในประโยค
หมายถึง ผู้พูด (บุรุษที่1) ผู้ถูกพูดด้วย(บุรุษที่2)หรือถูกพูดถึง(บุรุษที่3)
1.1.2 พจน์ (Number) เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่บ่งบอกจำนวน
ว่าเป็นจำนวนเพียงหนึ่ง หรือจำนวนมากกว่าหนึ่ง ภาษาอังกฤษมีการบ่งชี้พจน์โดยใช้ตัวกำหนด
(determiner ) ที่ต่างกัน
1.1.3 การก (case) เป็นประเภททางไวยากรณ์ของคำนามที่บ่งบอกคำนามนั้นเล่นบทบาทอะไร
สัมพันธ์กับคำในประโยคอย่างไร คือ สัมพันธ์กับคำอื่นในประโยคอย่างไร ในภาษาอังกฤษ การกในคำนามมักแสดงโดยการเรียงคำ
ในภาษาไทยไม่มีการเติมหน่วยท้ายคำเพื่อแสดงการก แต่ใช้การเรียงคำเหมือนกับการกประธานและกรรมในภาษาอังกฤษ
1.1.4 นามนับได้กับนามนับไม่ได้ (countable and uncountable nouns) คำนามในภาษาอังกฤษจะแตกต่างกับภาษาไทยในเรื่องการแบ่งนามนับได้กับนับไม่ได้
ในภาษาไทยคำนามทุกคำนับได้ เพราะเรามีลักษณะนามบอกจำนวนของทุกสิ่งได้
และเราสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับคำนามต่างๆ ในภาษาอังกฤษมีการใช้หน่วยบอกปริมาณหรือปริมาตรกับคำนามที่นับไม่ได้ทำให้เป็นหน่วยเหมือนนับได้
แต่ไม่เป็นระบบทั่วไปเหมือนภาษาไทย
1.1.5 คำชี้เฉพาะ (definiteness) ประเภททางไวยากรณ์อีกประเภทหนึ่งในภาษาอังกฤษที่มีความสำคัญในภาษาอังกฤษ
แต่ไม่มีความสำคัญในภาษาไทย
ได้แก่การแยกความแตกต่างระหว่างนามชี้เฉพาะกับนามไม่ชี้เฉพาะ
เครื่องหมายที่บ่งชี้ความไม่ชี้เฉพาะคือ a / an บ่งชี้ความชี้เฉพาะ
คือ the ซึ่งไม่มีการชี้เฉพาะในภาษาไทย
1.2 คำกริยา คำกริยานับได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของประโยค การใช้คำกริยาซับซ้อนกว่าคำนาม
เพราะมีประเภททางไวยากรณ์ต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องหลายประเภท และการแยกความแตกต่างระหว่างกริยาแท้กับกริยาไม่แท้
1.2.1 กาล (tense) คำกริยาในภาษาอังกฤษต้องแสดงว่าเป็นเวลาในอดีตหรือไม่ใช่อดีต
แต่ในภาษาไทยเรื่องกาลถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ
1.2.2 การณ์ลักษณะ (aspect) เป็นลักษณะของการกระทำหรือเหตุการณ์การเสร็จสิ้นของการกระทำ
การเกิดซ้ำของเหตุการณ์ ในภาษาอังกฤษ การณ์ลักษณะที่สำคัญได้แก่ การณ์ลักษณะต่อเนื่องหรือการณ์ลักษณะดำเนินอยู่
และการณ์ลักษณะเสร็จสิ้น
1.2.3 มาลา (mood) เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่ใช้กับคำกริยา
มีหน้าที่แสดงว่าผู้พูดมีทัศนคติต่อเหตุการณ์หรือเรื่องที่พูดอย่างไร ในภาษาไทยคำกริยาไม่มีการแสดงมาลา
แต่ในภาษาอังกฤษมี ในภาษาไทยมาลาแสดงโดยช่วยหรือวิเศษณ์เท่านั้น
ไม่ได้แสดงโดยการเปลี่ยนรูปกริยา
1.2.4 วาจก (voice) เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่บ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างประธานกับการกระทำที่แสดงโดยคำกริยา
ว่าประธานเป็นผู้กระทำหรือประธานเป็นผู้ถูกกระทำ ในภาษาอังกฤษประโยคส่วนใหญ่จะมีกริยาเป็นกรรตุวาจก
ในภาษาไทย คำกริยาไม่มีการเปลี่ยนรูปในตัวของมันเองเพื่อแสดงกรรมวาจก ในการแปลระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ
ประโยคกรรมในภาษาอังกฤษไม่จำเป็นต้องเท่ากับประโยคกรรมในภาษาไทยเสมอไป
1.2.5 กริยาแท้กับกริยาไม่แท้ (finite vs. non-finite) คำกริยาในภาษาอังกฤษแตกต่างกับภาษาไทยมากในเรื่องของการแยกกริยาแท้ออกจากกริยาไม่แท้
ในประโยคจะมีกริยาแท้เพียงตัวเดียวเท่านั้น
ในภาษาไทยไม่มีความแตกต่างระหว่างกริยาแท้กับกริยาไม่แท้ กล่าวคือ กริยาทุกตัวในประโยคไม่มีการแสดงรูปที่ต่างกัน
1.3 ชนิดของคำประเภทอื่น ชนิดของคำประเภทอื่นนอกจากคำนามกับกริยามีความซับซ้อนน้อยกว่านามและกริยา
และไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการแปลมากเท่านามกับกริยา อย่างไรก็ตาม
คำที่เป็นตัวปัญหาในตัวคำศัพท์เองได้แก่คำบุพบท นอกจากนี้คำบุพบทในภาษาอังกฤษสามารถห้อยท้ายวลีหรือประโยคได้
แต่ภาษาไทยไม่มีโครงสร้างแบบนี้
2. หน่วยสร้างที่ต่างกันในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
หน่วยสร้าง (construction) หมายถึงหน่วยทางภาษาที่มีโครงสร้าง เมื่อเปรียบเทียบหน่วยสร้างในภาษาไทยและภาษาอังกฤษพบว่ามีหน่วยสร้างที่แตกต่างกัน
ซึ่งผู้แปลควรให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษดังนี้
2.1 หน่วยสร้างนามวลี : ตัวกำหนด (Determiner)+นาม (อังกฤษ) vs.นาม
(ไทย) นามวลีในภาษาอังกฤษมีตัวกำหนดอยู่หน้านามเสมอถ้าคำนามนั้นเป็นนามนับได้และเป็นเอกพจน์
ดังนั้นเราจะพบเสมอว่าในขณะที่นามวลีในภาษาอังกฤษมีตัวกำหนดปรากฏ แต่ภาษาไทยไม่มี
2.2 หน่วยสร้างนามวลี : ส่วนขยาย+ส่วนหลักอังกฤษ vs. ส่วนหลัก+ส่วนขยายไทย ในหน่วยสร้างนามวลี
ภาษาอังกฤษวางส่วนขยายไว้ข้างหน้าส่วนหลัก ส่วนภาษาไทยตรงกันข้าม เวลาแปลจากอังกฤษเป็นไทย
ถ้าส่วนขยายไม่ยาวเราเพียงแต่ย้ายส่วนที่ขยายจากหน้าไปหลังก็ใช้ได้
2.3 หน่วยสร้างกรรมวาจก (Passive constructions) ในภาษาอังกฤษหน่วยสร้างกรรมวาจกมีรูปแบบเด่นชัดและแบบเดียวแต่ในภาษาไทยหน่วยสร้างกรรมวาจกมีหลายรูปแบบ
เป็นที่น่าสังเกตว่ากริยาเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก จะมีรูปตรงกันข้ามในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
กล่าวคือในภาษาไทยมักเป็นกรรตุวาจก ส่วนในภาษาอังกฤษเป็นกรรมวาจก
2.4 หน่วยสร้างประโยคเน้น subject (อังกฤษ) กับประโยคเน้น topic
(ไทย) ภาษาไทยจะเป็นภาษาเน้น topic (topic oriented language) ส่วนภาษาอังกฤษเน้นSubject (Subject-oriented language)
2.5 หน่วยสร้างกริยาเรียงในภาษาไทย (serial verb construction) หน่วยสร้างในภาษาไทยที่ไม่มีในภาษาอังกฤษและมักเป็นปัญหาในการแปลได้แก่
หน่วยสร้างกริยาเรียง ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วยกริยาตั้งแต่สองคำขึ้นไปเรียงต่อกันโดยไม่มีอะไรคั่นกลางยกเว้นกรรมของกริยาที่มาข้างหน้า
3. สรุป
สรุปได้ว่าการแปลระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษนั้น ลักษณะทางโครงสร้างที่แตกต่างกันและผู้แปลควรให้ความสนใจเป็นพิเศษมีดังนี้
3.1 เรื่องชนิดของคำ ปัญหาเกิดจากการที่ภาษาหนึ่งมีชนิดของคำบางประเภทแต่อีกภาษาไม่มี
ภาษาไทยมีชนิดคำทุกประเภทเหมือนภาษาอังกฤษ ยกเว้นคำคุณศัพท์และมีชนิดที่ไม่มีในภาษาอังกฤษ
ได้แก่ ลักษณะนามและคำลงท้าย
3.2 เรื่องประเภททางไวยากรณ์ สำหรับภาษาไทยไม่มีการบ่งชี้ บุรุษ พจน์ การก นับได้-นับไม่ได้ ชี้เฉพาะ แต่ภาษาอังกฤษมีการบ่งชี้ไม่ชัดเจน
สำหรับคำกริยา ภาษาไทยไม่มีการบ่งชี้ กาล
วาจก กริยาแท้-ไม่แท้ แต่ภาษาอังกฤษบ่งชี้ชัดเจน ในการแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ
ผู้แปลควรสำเหนียกความแตกต่างในเรื่องเป็นพิเศษ
3.3 เรื่องหน่วยสร้างหรือรูปประโยค นามวลี ในภาษาอังกฤษมีตัวกำหนดแบบบังคับแต่ในภาษาไทยตัวกำหนดจะมีหรือไม่มีก็ได้
การวางส่วนขยายในนามวลี มีความแตกต่างตรงกันข้ามกันระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ หน่วยสร้างกรรมวาจก
ภาษาอังกฤษมีรูปแบบที่ชัดเจน แต่ภาษาไทยมีหลายรูปแบบ ประโยคเน้นประธานกับประโยคเน้นเรื่อง
ประโยคในภาษาอังกฤษมีประธานเสมอ
แต่ประโยคในภาษาไทยอาจไม่ต้องมีประธาน หน่วยสร้างกริยาเรียง
มีในภาษาไทยแต่ไม่มีในภาษาอังกฤษ
ข้อสรุปสุดท้ายคือหากผู้แปลตระหนักในความสำคัญของความแตกต่างทางโครงสร้างในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ผู้แปลจะมีปัญหาในการแปลน้อยลง
และผลงานที่แปลจะใกล้เคียงกับลักษณะภาษาแม่ในภาษาเป้าหมายมากที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น