วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558

Learning Log 7 (นอกห้องเรียน)

Learning Log 7 (นอกห้องเรียน)


ทักษะภาษาอังกฤษที่พบว่าผู้เรียนไม่มั่นใจมากที่สุด คือทักษะการเขียน เพราะว่าการฟัง ผู้ฟังสามารถอาศัยสีหน้าและท่าทางผู้พูดเพื่อประกอบความเข้าใจได้ การพูดก็พอใช้ภาษามือช่วยได้ ส่วนการอ่านก็ใช้เวลานานแค่ไหนก็ได้เพื่อทำความเข้าใจไปทีละนิด แต่การเขียนเป็นเรื่องที่ดูทางการมากที่สุด ผู้เขียนจะต้องกังวลถึงเรื่องไวยากรณ์ คำศัพท์ และหลักการเขียนอื่นๆอีกมากมาย ก่อนที่จะทำ ไปดูวิธีแก้ไขและพัฒนาทักษะการเขียน เราต้องพิจารณาก่อนว่าอะไรคือ จุดอ่อนที่ทำไม่ได้สักที
การเรียงลำดับของคำ แม้ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษจะมีรูปแบบ ประธาน + กริยา + กรรม เหมือนกัน อย่าง ฉันรักเธอ I love you. แต่เวลาใส่คำขยายต่างเข้าไปในประโยค ลำดับจะต่างกันอย่าง ฉันมีกระเป๋าสีแดง ก็เป็น I have a red bag.นอกจากนี้เวลาทำเป็นประโยคคำถามภาษาอังกฤษก็จะย้ายคำกริยามาไว้หน้าประธาน ทั้งที่ภาษาไทยไม่มี เช่น นั่นคือแฟนเธอหรือเปล่า กับ It that your boyfriend? หรือ เธอชื่ออะไร What is your name? Did his dad tell him not to worry? ประโยคนี้ดูง่ายๆไม่ซับซ้อน เพราะว่าคำศัพท์แปลออกทุกตัว แต่ถ้าให้เขียนตั้งแต่แรก เชื่อว่าหลายๆคนไม่รู้ว่าจะเรียงประโยคยังไงให้อ่านรู้เรื่อง (พ่อของเขาบอกเขารึเปล่าว่าไม่ต้องเป็นห่วงพ่อ)
เรื่องของเวลาและ Tense ต่างๆ ภาษาไทยไม่ต้องเปลี่ยนรูปตามกาล จะกินเมื่อวาน วันนี้ หรือพรุ่งนี้ ก็ยังคงกินอยู่วันยังค่ำ แต่ในภาษาอังกฤษมีตั้ง 12 Tense ทั้งอดีตของอดีต ทำแล้วจบในอดีต ทำแล้วแต่ยังไม่จบ จะทำแบบแน่นอน จะทำแบบยังไม่แน่นอน หรือแม้แต่กาลปัจจุบันอย่าง Present Simple Tense เมื่อประธานเป็นเอกพจน์ กริยาต้องเติม s หรือว่า es มีคนสงสัยมากมายว่าทำไมต้องทำมาเยอะแยะขนาดนี้ แต่พอคิดได้ว่าคำตอบคงอยู่ที่คนคิดภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่รู้ว่าจะไปเจอที่ไหนได้แล้ว เลยเปลี่ยนมาจำว่ามี Tense อะไรบ้าง แต่กลับไปสงสัยเรืองการใช้ Tense แต่ละ Tense ว่าใช้อย่างไร เพราะ Tense เป็นหัวใจสำคัญของหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษกันเลยทีเดียว
เครื่องหมายวรรคตอน ภาษาไทยใช้เครื่องหมายวรรคตอนไม่บ่อยมาก เมื่อจบประโยคก็ไม่ต้องใส่จุดด้วย แต่ภาษาอังกฤษเมื่อจบประโยคต้องใส่จุด เพราะภาษาไทยใช้การเว้นวรรคแสดงการจบประโยคอยู่แล้ว แต่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่เว้นวรรคทุกคำ จึงต้องมีจุดแสดงส่วนประโยคคำถามในภาษาไทยก็ไม่นิยมใช้เครื่องหมายปรัศนี จนกระทั่งรู้จักภาษาต่างประเทศ และถือว่ามีคำไทยที่รวมความเป็นเครื่องหมายคำถามเข้าไปอยู่ในตัวด้วย จึงไม่แสดงเครื่องหมายคำถามอีก นอกจากนี้ภาษาอังกฤษยังไม่มีไม้ยามก ไปยาลน้อย ไปยาลใหญ่ ที่ภาษาอังกฤษไม่มีใช้ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่จุกจิกเรื่องเครื่องหมายวรรคตอนมาก แต่ในภาษาไทยนั้นเน้นวรรคเป็นหลัก เครื่องหมายวรรคตอนของภาษาอังกฤษเยอะมาก ทำให้เป็นอีกปัญหาหนึ่งในการเขียน เพราะเดาไม่ถูกว่า วรรคตรงนี้เป็นเครื่องหมายไหนดี
สุภาษิต คำพังเพย สำนวน แต่ละภาษามีสุภาษิต คำพังเพย และสำนวนต่างกันตามวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ อย่างหนีเสือปะจระเข้ จะกลายเป็น หนีกระทะทอดไปเจอกองไฟ ทันที Out of the frying pan and into the fire.หรือเข้าเมืองตาหลิ่วหลิ่วตาตาม ก็เป็น เข้ากรุงโรมต้องทำตามชาวโรมัน When in Rome do as the Romans do.ซึ่งเวลาจะใช้ คนไทยคงไม่นึกถึงกรุงโรมแน่นอน ถ้าจะเปรียบเทียบก็น่าจะเลือกอาณาจักรที่ไทยคุ้นเคยมากกว่า อย่างกรุงอโยธยา ถึงสำนวนพวกนี้ไม่สามารถแปลตรงตัวได้ แต่โชคดีที่ปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลมากมายที่ช่วยให้เรารู้ว่าอันไหนเป็นอันไหน ทำให้ไม่ต้องพยายามแปลเองผิดๆถูกๆอีกแล้ว
ไม่รู้คำศัพท์ จริงๆแล้วปัญหานี้แก้ไขง่ายมาก เพราะมีพจนานุกรมแต่ที่เป็นปัญหาจริงๆน่าจะเป็นปัญหาในการใช้มากกว่า ไม่รู้ว่าคำนี้ใช้ในประโยคได้หรือไม่ หรือว่าคำนี้มีความหมายด้านบวกหรือด้านลบ หรือไม่แน่ใจว่ามันให้ความหมายตรงกับที่คิดไว้ในหัวหรือเปล่า ฉะนั้นต้องมีพจนานุกรมอังกฤษ-อังกฤษติดไว้ด้วยอีกเล่มหนึ่ง เลือกเล่มที่อธิบายความหมายเยอะๆ และยกตัวอย่างเยอะมากๆ จะได้เห็นภาพมากขึ้นว่าคำที่เราเลือกพจนานุกรมไทย-อังกฤษ ไปใช้นั้นมันถูกต้องจริงๆแล้วหรือยัง และถ้าเราไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร เราก็เริ่มเขียนจากเรื่องใกล้ตัวก่อนหรือเรื่องราวชีวิตประจำวันของเรา เพราะจะทำให้การเขียนง่ายขึ้น ศัพท์ที่ใช้ก็ไม่ยากจนเกินไป และเมื่อเรารู้ปัญหาแล้ว เรามารู้วิธีแก้ไขให้เขียนภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น
วิธีที่ดีที่สุดคือ คิดเป็นภาษาอังกฤษไปเลย ห้ามคิดเป็นภาษาไทยแล้วแปลกลับเป็นภาษาอังกฤษ เพราะว่ารายละเอียดหลายๆอย่างอาจจะตกหล่นระหว่างการแปลได้ แต่มันก็เป็นเรื่องที่ยากสำหรับหลายๆคน เพราะว่ามันต้องอาศัยความคุ้นเคย ถึงจะทำให้คิดเป็นภาษาอังกฤษได้เลย แต่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยการฝึกทักษะภาษาอังกฤษอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการฟังหรืออ่านก็ได้ เมื่อสร้างความคุ้นเคยในการใช้ภาษาอังกฤษอย่างสม่ำเสมอ จะมีวิธีช่วยการพัฒนาหลายอย่างดังนี้
การเขียนร่างหลายๆครั้ง หรือเขียนทบทวนแก้ไขหลายรอบ อย่าเขียนครั้งเดียวส่ง ร่างเสร็จก็ตรวจทานใหม่ ถ้าเป็นการบ้านที่อีกนานกว่าจะส่งก็ให้รีบทำแต่เนิ่นๆ ตรวจสอบรอบแรกแล้วทิ้งไว้สักสามวันมาอ่านอีกที แก้ไขแล้วก็เว้นไว้อีก 5 วันมาอ่านอีกทีแล้วแก้ไขอีกรอบ ควรจะเว้นจังหวะระหว่างการแก้ไขแต่ละครั้งด้วย ครั้งหลังๆที่มาอ่านจะรู้สึกว่าฉันเขียนอะไรลงไป นอกจากนี้การเรียงประโยคก็เป็นส่วนสำคัญ ถ้าเรารู้สึกว่างานเขียนของเราดูพื้นๆไป มีแต่ I am. He is.      They are. เต็มไปหมด เช่น He had beautiful eyes. They are green. He is looking right at me.ซึ่งสามารถฝึกการแปลงรูปประโยคได้จากการอ่านและฟังเยอะๆ ดูหนัง ฟังเพลงแบบจัดเต็มเลย
ลองอ่านออกเสียงเผื่อสะดุด การอ่านออกเสียงทำให้เราได้ประสาทสัมผัสเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประสารทสัมผัสที่เพิ่มขึ้นก็เหมือนกับตัวช่วยตรวจสอบที่เพิ่มขึ้น บางทีพูดไปมาอาจจะรู้สึกแปลกๆขึ้นมาบ้าง นอกจากการอ่านออกเสียงยังมีการฝึกพิมพ์ภาษาอังกฤษในสเตตัส ใครจะว่าก็ช่าง แต่เราทำเพื่อพัฒนาทักษะของตัวเอง เวลาจะเมาธ์หรือว่าวิจารณ์หนังที่ไปดูมา ก็ลองเลี่ยนมาอัพสเตตัสเป็นภาษาอังกฤษแทน พยายามแสดงเหตุผลไปเยอะๆ พระเอกหล่อยังไง ตัวโกงดีหรือเลวยังไง ดนตรีประกอบเพราะไหม เขียนไปตามใจชอบเลย เพื่อนในเฟสบุ้คที่เก่งภาษาอังกฤษก็จะช่วยแนะนำและแก้ไขให้ และการแสดงออกภาษาอังกฤษบ่อยๆจะทำให้ไม่รู้สึกว่ามันน่ากลัวเวลาต้องเขียนงาน

ดังนั้นแน่นอนว่าทักษะการเขียน เป็นทักษะที่สำคัญอีกทักษะหนึ่ง และยังเป็นทักษะที่ยากด้วย เพราะว่าก่อนเราจะเขียนงานเราต้องมีเรื่องที่จะเขียนก่อน หลังจากนั้นก็เริ่มเขียน เมื่อเขียนเสร็จก็นำงานเขียนกลับมาแก้ไขหลายๆรอบเพื่อจะได้เห็นจุดบกพร่องของตัวเองมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้คำศัพท์และไวยากรณ์เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะว่าการที่เราจะอ่านเขียนออกมาได้ดีนั้น เราต้องรู้จักเลือกใช้คำศัพท์ให้เหมาะสมกับงานเขียนของเรา อย่างไรก็ตาม นอกจากทักษะการเขียน ยังมีทักษะการอ่าน การฟัง การพูด ดังนั้นเราต้องฝึกทุกๆทักษะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพากยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น